Gross Domestic Product

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คืออะไร

GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่แสดงถึงมูลค่าทั้งหมดที่เป็นตัวเงินของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขายในตลาด ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะถูกนำมาใช้เพื่อวัดการผลิตภายในประเทศของประเทศนั้น ซึ่งจะสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดังกล่าว โดยทั่วไปแล้ว GDP จะถูกอ้างอิงว่าเป็นการวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปี แต่มันก็สามารถถูกนำไปใช้ในการคำนวณความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจรายไตรมาสได้เช่นกัน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะอธิบายถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตภายในประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีไว้สำหรับการบริโภค การลงทุน และแม้แต่การทดแทนสินทรัพย์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศที่เกิดจากบริษัทต่างชาติอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ความพยายามครั้งแรกที่จะใช้ตัวบ่งชี้เศรษฐศาสตร์มหภาคที่คล้ายกับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้เกิดขึ้นในปี 1700 แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสมัยใหม่ได้รับการเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า Simon Kuznets ในปี 1934 ท่ามกลางความเฟื่องฟูในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อเอาชนะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และจำกัดผลกระทบด้านลบที่มีต่อเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องวัดความสำเร็จของความพยายามเหล่านี้ นั่นคือตอนที่ Kuznets ได้นำเสนอแนวคิดในการวัดสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในสหรัฐฯ แต่ไม่ถึงสิบปีต่อมาที่ Bretton Woods Conference นั้น GDP ของสหรัฐฯ ก็ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ

Simon Kuznets ใช้เวลานานในการพัฒนาสูตรที่สมบูรณ์แบบเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับการวัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เพิ่มขึ้น vs. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ลดลง) และในปีต่อ ๆ มาทั้งโลกก็ได้นำเมตริกนี้ไปใช้ แต่ความพยายามที่จะทำให้มันสมบูรณ์แบบยังคงดำเนินต่อไป

ประเภทของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกโดยละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยตัวมันเองเพียงลำพัง GDP จะสามารถแสดงให้เห็นได้แค่ว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ไม่ได้เปิดเผยมากนักเกี่ยวกับมาตรฐานการครองชีพในประเทศหนึ่ง ๆ หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นสามารถแข่งขันกับอัตราเงินเฟ้อที่กำลังเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลที่มีความละเอียดสูงขึ้น จึงได้มีประเภทย่อย ๆ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ด้วยกันหลายประเภท รวมถึงตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่นำเสนอแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงินจะประเมินประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและผลผลิตโดยรวมโดยใช้ราคาปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ การไม่พิจารณาราคาที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ตัวบ่งชี้ที่แสดงการเติบโตที่สูงเกินกว่าที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงินจึงถูกใช้เป็นหลักในการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายไตรมาสที่ติดต่อกัน เมตริกที่ดีกว่าสำหรับการเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างปีต่าง ๆ คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงจะถูกใช้เพื่อวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในปีหนึ่ง ๆ โดยคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ แต่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เป็นตัวเงิน อัตราเงินเฟ้อจะรบกวนข้อมูลและทำให้ดูเหมือนว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว อัตราเงินเฟ้ออาจยังคงเท่าเดิมหรือลดลงด้วยซ้ำ

ด้วย GDP ที่แท้จริง นักเศรษฐศาสตร์จะเลือกปีฐานและปรับผลผลิตของปีปัจจุบันให้เป็นระดับราคาของปีฐาน ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง นักเศรษฐศาสตร์จะใช้ตัวปรับลดราคาผลิตภัณฑ์ (GDP price deflator) ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างราคาของปีปัจจุบันและปีฐาน การทำเช่นนี้จะช่วยแยกผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อออกจากการคำนวณ และได้เห็นประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริงตลอดทั้งปี

ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสุทธิ (Net Domestic Product)

ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสุทธิ (NDP) เป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจที่ใช้วัดผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศคือมันจะคำนึงถึงต้นทุนในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเครื่องมือที่เสื่อมสภาพ เครื่องจักร โรงเรือน ยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไป

ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสุทธิจะถูกคำนวณโดยการลบต้นทุนเหล่านี้ (ค่าเสื่อมราคา) ออกจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโดยรวม ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศสุทธิมักถูกมองว่ามีรายละเอียดมากกว่า เนื่องจากมันจะให้ข้อมูลว่าประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศครอบคลุมทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อสนับสนุนอัตราการผลิตในปัจจุบันหรือไม่

ผลผลิตที่ระดับศักยภาพ (Potential GDP)

เมื่อนักเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องประเมินว่าเศรษฐกิจจะสามารถผลิตได้เท่าไรหากใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดในระดับที่ยั่งยืนที่สุด พวกเขาจะคำนวณหาผลผลิตที่ระดับศักยภาพ ผลผลิตที่ระดับศักยภาพจะถูกใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบผลผลิตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน สิ่งนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง ๆ กำลังประสบกับระดับอุปสงค์และอุปทานที่อ่อนแอ หรืออุปสงค์รวมเกินกว่าอุปทานรวมหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ผลผลิตที่ระดับศักยภาพจะให้สัญญาณแก่ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงผลผลิตทางเศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita)

ในการที่จะดูว่าประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรของประเทศอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์จะคำนวณหาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว ตัวบ่งชี้นี้จะถูกวัดโดยการหารผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดของประเทศ (จะใช้ GDP ที่เป็นตัวเงิน หรือ GDP ที่แท้จริง ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการศึกษา) ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรแต่ละรายสามารถสร้างมูลค่าของการผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เท่าไร เมตริกนี้ยังสามารถใช้เพื่อกำหนดความมั่งคั่งของประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อหัว ประสิทธิภาพการทำงาน และแม้แต่มาตรฐานการครองชีพได้อีกด้วย

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP Growth Rate)

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะวัดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า สิ่งนี้จะช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายเข้าใจว่าเศรษฐกิจเติบโตเร็วเพียงใดและมีอะไรที่ต้องกังวลหรือไม่

หากอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็วอย่างไม่เป็นสัดส่วน มันอาจบ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้น ในทางกลับกัน หาก GDP เติบโตช้าหรือติดลบ หน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่มันจะถูกกลืนโดยภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ความเสมอภาคของอํานาจซื้อ (Purchasing Power Parity (PPP))

ความเสมอภาคของอํานาจซื้อ (PPP) เป็นตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในการคำนวณหาความเสมอภาคของอํานาจซื้อ นักเศรษฐศาสตร์จะเปรียบเทียบราคาของตะกร้าสินค้าเฉพาะโดยทำการแปลงให้เป็นสกุลเงินเดียว ความเสมอภาคของอํานาจซื้อคืออัตราส่วนของราคา เมตริกนี้จะช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างผลผลิตทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพของประเทศต่าง ๆ ได้

วิธีการคำนวณหา GDP

มีสามวิธีในการคำนวณหา GDP

  • การคำนวณด้านรายได้ จะวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศโดยแยกรายได้รวมประชาชาติ (ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไรประเภทอื่น ๆ) และภาษีขาย รวมทั้งค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์และรายได้สุทธิจากปัจจัยต่างประเทศ (ผลต่างระหว่างรายได้รวมที่พลเมืองทุกคนสร้างขึ้น โดยรวมถึงรายได้ที่สร้างขึ้นนอกประเทศของพวกเขาด้วย และรายได้ที่ได้รับเฉพาะภายในขอบเขตของประเทศ)
  • การคำนวณด้านรายจ่าย จะมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายที่คำนวณได้ของผู้เข้าร่วมทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุน และการส่งออกสุทธิ (ผลต่างระหว่างการส่งออกทั้งหมดและการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ)
  • การคำนวณด้านผลผลิต จะเกี่ยวข้องกับการคำนวณมูลค่ารวมของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศ ณ เวลาที่ทำการผลิต จากนั้นจึงหักลบกับสินค้าขั้นกลาง (วัสดุและทรัพยากร) ที่ใช้ในกระบวนการผลิต

วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะถูกใช้ในการวัดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จาก GDP นั้นสามารถนำไปใช้งานจริงได้หลากหลาย รวมถึงการใช้งานที่นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจด้วย

  • GDP จะช่วยรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายในการวิเคราะห์สถานะปัจจุบันของเศรษฐกิจและอัตราการหมุนเวียนของเงิน ทำนายแนวโน้มในอนาคต และทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศเพื่อกำหนดวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • GDP เป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจ การรู้เกี่ยวกับสถานะปัจจุบันและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะช่วยให้พวกเขาสามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อชดเชยการเสื่อมถอยที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ข้อมูล GDP จะให้ข้อมูลที่ดีแก่เทรดเดอร์และนักลงทุน หาก GDP แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว เทรดเดอร์สามารถคาดหวังได้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเติบโตขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการแข็งค่าของสกุลเงินและให้โอกาสการซื้อขายมากขึ้นสำหรับเทรดเดอร์ Forex ที่สนใจสกุลเงินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ในทางกลับกัน เศรษฐกิจที่อ่อนแออาจนำไปสู่การลดลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของสกุลเงินลดลง

ข้อเสียของ GDP

แม้ว่า GDP จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดสำหรับผลผลิตทางเศรษฐกิจ แต่มันก็ยังมีข้อเสียอยู่เล็กน้อย

  • GDP จะไม่รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น งานอาสาสมัครหรืองานที่ไม่เป็นทางการ
  • GDP จะไม่คำนึงถึงสวัสดิการหรือความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่าเศรษฐกิจจะยั่งยืนหรือไม่
  • GDP ไม่ได้รวมเอาการละเมิดสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากปริมาณการผลิตที่สูง ซึ่งเป็นสัญญาณที่สำคัญว่าการผลิตดังกล่าวไม่ยั่งยืนในระยะยาว
  • GDP ไม่ได้คำนวณรายได้ของบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินค่าสูงเกินไปของผลผลิตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศผู้ผลิต
  • GDP จะมุ่งเน้นเฉพาะการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเท่านั้น และไม่คำนึงถึงธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายขั้นกลางระหว่างธุรกิจ

แม้ว่าจะมีความพยายามสร้างตัวชี้วัดใหม่ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เมตริกนี้ยังคงถูกใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ย้อนกลับ

อัปเดทแล้ว • 2023-04-21

คำถามที่พบบ่อย

  • คำจำกัดความง่าย ๆ ของ GDP คืออะไร?

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นตัวบ่งชี้ที่วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศโดยการคำนวณราคารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศนั้น

  • ประเทศใดมี GDP ที่สูงที่สุด?

    ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามี GDP สูงที่สุดในโลก รองลงมาคือจีนและญี่ปุ่น

  • GDP ที่สูงนั้นดีหรือไม่?

    GDP สูงหมายความว่าเศรษฐกิจกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม หาก GDP เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป มันอาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของราคาได้

ฝากเงินกับระบบการชำระเงินในประเทศของคุณ

ประกาศการเก็บรวบรวมข้อมูล

FBS เก็บรักษาข้อมูลของคุณไว้เพื่อใช้งานเว็บไซต์นี้ เมื่อกดปุ่ม "ยอมรับ" ถือว่าคุณยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว ของเรา

โทรกลับ

ผู้จัดการของเราจะโทรหาคุณในเร็ว ๆ นี้

เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์

เราได้รับคำร้องของคุณแล้ว

ผู้จัดการของเราจะโทรหาคุณในเร็ว ๆ นี้

คำขอโทรกลับครั้งต่อไปสำหรับหมายเลขโทรศัพท์นี้
จะพร้อมใช้งานใน

หากคุณมีปัญหาเร่งด่วนโปรดติดต่อเราผ่านทาง
สนทนาออนไลน์

เกิดข้อผิดพลาดภายใน กรุณาลองใหม่อีกครั้งในภายหลัง

อย่ามัวเสียเวลา - ติดตามดูว่า NFP ส่งผลกระทบอย่างไร ต่อ USD แล้วทำกำไรเลยสิ!

คุณกำลังใช้เบราว์เซอร์เวอร์ชันเก่ากว่านี้

อัปเดตเป็นเวอร์ชันล่าสุดหรือลองใช้เพื่อการเทรดที่สะดวกสบายและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

Safari Chrome Firefox Opera