แนวโน้มของทองคำ: โลหะมีค่าจะฟื้นพลังได้หรือไม่?
ในวันที่ 8 มีนาคม 2022 ทองคำได้แตะราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ $2,070 ในตอนที่ราคาได้พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความขัดแย้งทางทหารในยุโรปตะวันออก ตั้งแต่นั้นมา โลหะมีค่าก็ได้สูญเสียมูลค่าไป 15% ในเดือนตุลาคม ราคาได้ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองปีที่ประมาณ $1,615 อย่างไรก็ตาม ราคาได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาในภายหลัง ปัจจุบัน ทองคำกำลังถูกเทรดในช่วงระหว่างเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ และ 100 สัปดาห์ เนื่องจากเหล่านักลงทุนต่างกำลังรอข่าวสำคัญ
ราคาโลหะสีเหลืองมีตัวขับเคลื่อนขนาดใหญ่สองสามตัวที่นักลงทุนต้องจับตามองในช่วงสิ้นปี 2022 - ต้นปี 2023 ซึ่งได้แก่:
- ความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์
- ความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
- อัตราเงินเฟ้อ
- อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
- ความเป็นไปได้ของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายเขตเศรษฐกิจหลัก
ภูมิรัฐศาสตร์
ปี 2022 ได้เห็นหนึ่งในการสั่นสะเทือนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดหลังจากที่รัสเซียได้รุกรานยูเครน การคว่ำบาตรรัสเซียได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและผลักดันราคาก๊าซให้สูงขึ้น ส่วนยุโรปกำลังเผชิญกับความยากลำบากในฤดูหนาวหรือการแบ่งสันปันส่วนพลังงานที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศหลัก ๆ อย่างเยอรมนี
น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งนี้จะยังไม่มีจุดสิ้นสุด นักลงทุนต่างมีความกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะบานปลาย ซึ่งอาจลุกลามไปไกลกว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจนเข้าสู่สงครามที่ร้ายแรงกว่าเดิม การบุกรุกเป็นตัวขับเคลื่อนราคาทองคำครั้งใหญ่ในช่วงต้นปี 2022 และมันจะเป็นผลกระทบหลักต่อราคาทองคำในปี 2023 อย่างไม่ต้องสงสัย
นอกเหนือจากรัสเซียแล้ว ความขัดแย้งทางการทหารที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจีนและไต้หวันยังคงเป็นประเด็นสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกกำลังจับตามอง หากจีนใช้ปฏิบัติการทางทหารบนเกาะ สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อาจตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำอีกครั้ง ดังนั้น นักลงทุนจึงเฝ้าดูการลุกลามที่อาจเกิดขึ้นในยูเครนและไต้หวันที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาทองคำ
สภาพเศรษฐกิจโลก
อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของราคาทองคำตั้งแต่การร่วงลงเนื่องจาก Covid-19 ในเดือนมีนาคม 2020 ธนาคารกลางรายใหญ่ได้หันไปใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากเป็นพิเศษเพื่อช่วยเศรษฐกิจโลกจากการล่มสลาย โดยทำการพิมพ์เงินและเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ (QE) ส่งผลให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่อัตราเงินเฟ้อจะเติบโตขึ้นอีก ทำให้ "นักลงทุนรายใหญ่" เลือกทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อให้สามารถผ่านพ้นการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไปได้
ตั้งแต่ต้นปี 2022 ธนาคารกลางได้เปลี่ยนนโยบายการเงินของตนให้เป็นแบบเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่วัดมาด้วยดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นในที่สุดก็ได้พุ่งสูงขึ้นเหนือเป้าหมายตามปกติ ในสหรัฐอเมริกา อัตราเงินเฟ้อได้ถึงจุดสูงสุดโดยเพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนกรกฎาคม จากนั้นก็ลดลงเหลือ 7.7% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ในเยอรมนีและอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยในเดือนพฤศจิกายนได้มีการเปลี่ยนแปลง 10.4% และ 11.1% ตามลำดับ
ตัวเลขดังกล่าวทำให้ราคาทองคำอยู่เหนือ $1,600 แม้ว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงระดับสูงสุดของช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 4% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน โดยคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวอีก 50 จุดพื้นฐานในเดือนธันวาคม ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยหลักในอังกฤษและสหภาพยุโรปได้แตะถึง 3% และ 2% ตามลำดับ โดยคาดว่าจะมีการดำเนินการที่เข้มงวดมากขึ้นกว่านี้
โดยทั่วไปแล้วอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะเป็นผลลบต่อทองคำเนื่องจากมันจะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่สูงมักจะถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อทองคำที่ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันอัตราเงินเฟ้อ
ด้วยเหตุนี้ จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง ทองคำจะยังคงอยู่ในกรอบกว้าง ซึ่งมันจะถูกกดลงโดยขั้นตอนที่เข้มงวดของธนาคารกลาง แต่จะได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงต่อทุกเศรษฐกิจเนื่องจากมันสามารถตั้งหลักในระดับนี้ได้แล้ว ในกรณีนี้ ธนาคารกลางจะต้องดำเนินการให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างคาดการณ์ว่าในปี 2023 เขตเศรษฐกิจหลัก ๆ จะเข้าสู่ช่วงถดถอย เหล่านักเศรษฐศาสตร์กำลังเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีและ 10 ปี ปกติแล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี จะต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ณ เดือนพฤศจิกายน 2022 อัตราผลตอบแทนได้กลับตัวลงมาแล้วแตะถึงระดับต่ำสุดของปี 1981 ซึ่งหมายความว่าตลาดมองว่าการลงทุนระยะสั้นมีความเสี่ยงมากกว่าระยะยาว
สถานการณ์เดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 1984, ปี 2000 และ ปี 2008 ในอดีต ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่เส้นอัตราผลตอบแทนกลับตัวลงมาลึกๆ แต่เกิดขึ้นหลังจากที่มันเริ่มย้อนกลับไปหา 0
หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินทุนจะไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นและคริปโต ไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำและ USD
ในอดีต ราคาทองคำและภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีความสัมพันธ์กันแบบผกผัน เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอ ราคาทองคำมักจะปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย 3 ครั้งล่าสุด ได้แก่ ปี 2020, ปี 2007 และ ปี 2001 ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่มูลค่าของ S&P 500 กลับลดลง
มันเกิดขึ้นเพราะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางได้ประคับประคองเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลักและใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (การซื้อหนี้ต่างประเทศ) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก
ในครั้งนี้ก็ไม่เว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 ตลาดหุ้นมักจะเป็นไปตามตัวบ่งชี้ปริมาณเงินหมุนเวียนในมือประชาชน M2 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องพิมพ์เงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ
ดังนั้นทองคำมักจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อทองคำคือช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงขีดสุด เมื่อธนาคารกลางยกเลิกนโยบายต่าง ๆ แล้วเริ่มประคับประคองเศรษฐกิจด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ และเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในมือประชาชน ในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนรายใหญ่จะเข้าซื้อโลหะสีเหลืองและราคาของมันจะพุ่งสูงขึ้น
สรุป
ปัจจัยที่เป็นไปได้สองประการที่จะทำให้เกิดการระเบิดของราคาโลหะสีเหลืองคือภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายการเงินของธนาคารรายใหญ่ หากความขัดแย้งทางการทหารทวีความรุนแรงขึ้น โลหะสีเหลืองอาจพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในระยะสั้นไปยังระดับแนวต้านที่ 2,050.00
อย่างไรก็ตาม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ธนาคารกลางต้องเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจุบัน หน่วยงานกำกับดูแลมีเป้าหมายหลักเพียงเป้าหมายเดียวคือการเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและลดงบดุล จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง ซึ่งมันสร้างแรงกดดันให้กับโลหะสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ทันทีที่หน่วยงานกำกับดูแลเปลี่ยนคำพูดและกลับนโยบายการเงิน ทองคำก็จะมีโมเมนตัมที่เป็นขาขึ้น
ดังนั้น เราขอแนะนำให้ให้ความสนใจกับข่าวสารและคำแถลงการณ์ของผู้ว่าการธนาคารเพื่อหาช่วงเวลาที่ XAUUSD จะกลับตัวทั่วโลก
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
XAUUSD กรอบเวลารายสัปดาห์
ในกรอบเวลารายสัปดาห์ ราคาได้สร้างรูปแบบ bullish flag หากราคาทะลุระดับ 1,950.00 (ขอบบนของรูปแบบ) มันก็จะเคลื่อนต่อไปที่ระดับ 2,050.00 และ 2300.00,
อย่างไรก็ตาม หาก XAUUSD หลุดกรอบด้านล่างของรูปแบบ มันอาจร่วงลงไปที่ระดับ 1,540.00, 1,450.00 และ 1,370.00